วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2556

บทความที่ 4 พรบ.เทคโนโลยีสารสนเทศ ที่เกี่ยวกับผู้ใช้งาน

พรบ. คอมพิวเตอร์ 2550 ทุกคนที่ใช้คอมพิวเตอร์ต้องรู้
                 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมาย ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้ “ระบบคอมพิวเตอร์” หมายความว่า อุปกรณ์หรือชุดอุปกรณ์ของคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมการทำงานเข้าด้วยกัน โดยได้มีการกำหนดคำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใด และแนวทางปฏิบัติงานให้อุปกรณ์หรือชุดอุปกรณ์ทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูลโดยอัตโนมัติ
“ข้อมูลคอมพิวเตอร์” หมายความว่า ข้อมูล ข้อความ คำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ในสภาพที่ระบบคอมพิวเตอร์อาจประมวลผลได้ และให้หมายความรวมถึงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย
“ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์” หมายความว่า ข้อมูลเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารของระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งแสดงถึงแหล่งกำเนิด ต้นทาง ปลายทาง เส้นทาง เวลา วันที่ ปริมาณ ระยะเวลาชนิดของบริการ หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อสื่อสารของระบบคอมพิวเตอร์นั้น
“ผู้ให้บริการ” หมายความว่า
(๑) ผู้ให้บริการแก่บุคคลอื่นในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต หรือให้สามารถติดต่อถึงกันโดยประการอื่น โดยผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการในนามของตนเอง หรือในนามหรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น
(๒) ผู้ให้บริการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น
“ผู้ใช้บริการ” หมายความว่า ผู้ใช้บริการของผู้ให้บริการไม่ว่าต้องเสียค่าใช้บริการหรือไม่ก็ตาม
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวง เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
หมวด ๑
ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
มาตรา ๕ ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้น มิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๖ ผู้ใดล่วงรู้มาตรการป้องกันการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่ผู้อื่นจัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะถ้านำมาตรการดังกล่าวไปเปิดเผยโดยมิชอบ ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๗ ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๘ ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อดักรับไว้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นที่อยู่ระหว่างการส่งในระบบคอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมิได้มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อให้บุคคลทั่วไปใช้ประโยชน์ได้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๙ ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๐ ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบ เพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวนจนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๑ ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นโดยปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มาของการส่งข้อมูลดังกล่าว อันเป็นการรบกวนการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นโดยปกติสุข ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
มาตรา ๑๒ ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๙ หรือมาตรา ๑๐
(๑) ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นในทันทีหรือในภายหลัง และไม่ว่าจะเกิดขึ้นพร้อมกันหรือไม่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
(๒) เป็นการกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือการบริการสาธารณะ หรือเป็นการกระทำต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท
ถ้าการกระทำความผิดตาม (๒) เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี
มาตรา ๑๓ ผู้ใดจำหน่ายหรือเผยแพร่ชุดคำสั่งที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะเพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดตามมาตรา ๕ มาตรา ๖ มาตรา ๗ มาตรา ๘ มาตรา ๙ มาตรา ๑๐ หรือมาตรา ๑๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๔ ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(๑) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
(๒) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(๓) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(๔) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(๕) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (๑)(๒) (๓) หรือ (๔)
มาตรา ๑๕ ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๔ ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๑๔
มาตรา ๑๖ ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือ
ปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่ง เป็นการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยสุจริต ผู้กระทำไม่มีความผิด ความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายในความผิดตามวรรคหนึ่งตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือ บุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย
มาตรา ๑๗ ผู้ใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้นอกราชอาณาจักรและ
(๑) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนไทย และรัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิดได้เกิดขึ้นหรือผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ หรือ
(๒) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนต่างด้าว และรัฐบาลไทยหรือคนไทยเป็นผู้เสียหายและผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ
จะต้องรับโทษภายในราชอาณาจักร
หมวด ๒
พนักงานเจ้าหน้าที่
มาตรา ๑๘ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๙ เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนและสอบสวนในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ เฉพาะที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดและหาตัวผู้กระทำความผิด
(๑) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้มาเพื่อให้ถ้อยคำ ส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือส่งเอกสาร ข้อมูล หรือหลักฐานอื่นใดที่อยู่ในรูปแบบที่สามารถเข้าใจได้
(๒) เรียกข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์จากผู้ให้บริการเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารผ่านระบบคอมพิวเตอร์หรือจากบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง
(๓) สั่งให้ผู้ให้บริการส่งมอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้บริการที่ต้องเก็บตามมาตรา ๒๖ หรือที่อยู่ในความครอบครองหรือควบคุมของผู้ให้บริการให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่
(๔) ทำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ จากระบบคอมพิวเตอร์ที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ในกรณีที่ระบบคอมพิวเตอร์นั้นยังมิได้อยู่ในความครอบครองของพนักงานเจ้าหน้าที่
(๕) สั่งให้บุคคลซึ่งครอบครองหรือควบคุมข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ ส่งมอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ดังกล่าวให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่
(๖) ตรวจสอบหรือเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ของบุคคลใด อันเป็นหลักฐานหรืออาจใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือเพื่อสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดและสั่งให้บุคคลนั้นส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ที่เกี่ยวข้องเท่าที่จำเป็นให้ด้วยก็ได้
(๗) ถอดรหัสลับของข้อมูลคอมพิวเตอร์ของบุคคลใด หรือสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเข้ารหัสลับของข้อมูลคอมพิวเตอร์ ทำการถอดรหัสลับ หรือให้ความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่ในการถอดรหัสลับดังกล่าว
(๘) ยึดหรืออายัดระบบคอมพิวเตอร์เท่าที่จำเป็นเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการทราบรายละเอียดแห่งความผิดและผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๑๙ การใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๑๘ (๔) (๕) (๖) (๗) และ
(๘) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อมีคำสั่งอนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามคำร้อง ทั้งนี้ คำร้องต้องระบุเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลใดกระทำหรือกำลังจะกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ เหตุที่ต้องใช้อำนาจ ลักษณะของการกระทำความผิด รายละเอียดเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ใช้ในการกระทำความผิดและผู้กระทำความผิด เท่าที่สามารถจะระบุได้ ประกอบคำร้องด้วยในการพิจารณาคำร้องให้ศาลพิจารณาคำร้องดังกล่าวโดยเร็วเมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตแล้ว ก่อนดำเนินการตามคำสั่งของศาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งสำเนาบันทึกเหตุอันควรเชื่อที่ทำให้ต้องใช้อำนาจตามมาตรา ๑๘ (๔) (๕) (๖) (๗) และ (๘) มอบให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองระบบคอมพิวเตอร์นั้นไว้เป็นหลักฐาน แต่ถ้าไม่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครองเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่ ณ ที่นั้น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งมอบสำเนาบันทึกนั้นให้แก่เจ้าของหรือ
ผู้ครอบครองดังกล่าวในทันทีที่กระทำได้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้เป็นหัวหน้าในการดำเนินการตามมาตรา ๑๘ (๔) (๕) (๖) (๗) และ
(๘) ส่งสำเนาบันทึกรายละเอียดการดำเนินการและเหตุผลแห่งการดำเนินการให้ศาลที่มีเขตอำนาจภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาลงมือดำเนินการ เพื่อเป็นหลักฐานการทำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามมาตรา ๑๘ (๔) ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และต้องไม่เป็นอุปสรรคในการดำเนินกิจการของเจ้าของหรือผู้ครอบครองข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นเกินความจำเป็น การยึดหรืออายัดตามมาตรา ๑๘ (๘) นอกจากจะต้องส่งมอบสำเนาหนังสือแสดงการยึดหรืออายัดมอบให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองระบบคอมพิวเตอร์นั้นไว้เป็นหลักฐานแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งยึดหรืออายัดไว้เกินสามสิบวันมิได้ ในกรณีจำเป็นที่ต้องยึดหรืออายัดไว้นานกว่านั้น ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อขอขยายเวลายึดหรืออายัดได้ แต่ศาลจะอนุญาตให้ขยายเวลาครั้งเดียวหรือหลายครั้งรวมกันได้อีกไม่เกินหกสิบวัน เมื่อหมดความจำเป็นที่จะยึดหรืออายัดหรือครบกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องส่งคืนระบบคอมพิวเตอร์ที่ยึดหรือถอนการอายัดโดยพลัน หนังสือแสดงการยึดหรืออายัดตามวรรคห้าให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๒๐ ในกรณีที่การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามที่กำหนดไว้ในภาคสองลักษณะ ๑ หรือลักษณะ ๑/๑ แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคำร้อง พร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจขอให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นได้ ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการระงับการทำให้แพร่หลายนั้นเอง หรือสั่งให้ผู้ให้บริการระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นก็ได้
มาตรา ๒๑ ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่พบว่า ข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดมีชุดคำสั่งไม่พึงประสงค์รวมอยู่ด้วย พนักงานเจ้าหน้าที่อาจยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อขอให้มีคำสั่งห้ามจำหน่ายหรือเผยแพร่ หรือสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นระงับการใช้ ทำลายหรือแก้ไขข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นได้ หรือจะกำหนดเงื่อนไขในการใช้ มีไว้ในครอบครอง หรือเผยแพร่ชุดคำสั่งไม่พึงประสงค์ดังกล่าวก็ได้ชุดคำสั่งไม่พึงประสงค์ตามวรรคหนึ่งหมายถึงชุดคำสั่งที่มีผลทำให้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือระบบคอมพิวเตอร์หรือชุดคำสั่งอื่นเกิดความเสียหาย ถูกทำลาย ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมขัดข้อง หรือปฏิบัติงานไม่ตรงตามคำสั่งที่กำหนดไว้ หรือโดยประการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงทั้งนี้ เว้นแต่เป็นชุดคำสั่งที่มุ่งหมายในการป้องกันหรือแก้ไขชุดคำสั่งดังกล่าวข้างต้น ตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๒๒ ห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่เปิดเผยหรือส่งมอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลของผู้ใช้บริการ ที่ได้มาตามมาตรา ๑๘ ให้แก่บุคคลใดความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับการกระทำเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีกับพนักงานเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่
โดยมิชอบ หรือเป็นการกระทำตามคำสั่งหรือที่ได้รับอนุญาตจากศาลพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ใดฝ่าฝืนวรรคหนึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๒๓ พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ใดกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นล่วงรู้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลของผู้ใช้บริการ ที่ได้มาตามมาตรา ๑๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๒๔ ผู้ใดล่วงรู้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลของผู้ใช้บริการ ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาตามมาตรา ๑๘ และเปิดเผยข้อมูลนั้นต่อผู้หนึ่งผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๒๕ ข้อมูล ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาตามพระราชบัญญัตินี้ ให้อ้างและรับฟังเป็นพยานหลักฐานตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการสืบพยานได้ แต่ต้องเป็นชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจมีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือโดยมิชอบประการอื่น
มาตรา ๒๖ ผู้ให้บริการต้องเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไว้ไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับแต่วันที่ข้อมูลนั้นเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ แต่ในกรณีจำเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งให้ผู้ให้บริการผู้ใดเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไว้เกินเก้าสิบวัน แต่ไม่เกินหนึ่งปีเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายและเฉพาะคราวก็ได้ ผู้ให้บริการจะต้องเก็บรักษาข้อมูลของผู้ใช้บริการเท่าที่จำเป็นเพื่อให้สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการ นับตั้งแต่เริ่มใช้บริการและต้องเก็บรักษาไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับตั้งแต่การใช้บริการสิ้นสุดลง ความในวรรคหนึ่งจะใช้กับผู้ให้บริการประเภทใด อย่างไร และเมื่อใด ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ผู้ให้บริการผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรานี้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท
มาตรา ๒๗ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งตามมาตรา ๑๘ หรือมาตรา ๒๐ หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลตามมาตรา ๒๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาทและปรับเป็นรายวันอีกไม่เกินวันละห้าพันบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง
มาตรา ๒๘ การแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้และความชำนาญเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ และมีคุณสมบัติตามที่รัฐมนตรีกำหนด
มาตรา ๒๙ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีอำนาจรับคำร้องทุกข์หรือรับคำกล่าวโทษ และมีอำนาจในการสืบสวนสอบสวนเฉพาะความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ในการจับ ควบคุม ค้น การทำสำนวนสอบสวนและดำเนินคดีผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ บรรดาที่เป็นอำนาจของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ หรือพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประสานงานกับพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และรัฐมนตรีมีอำนาจ ร่วมกันกำหนดระเบียบเกี่ยวกับแนวทางและวิธีปฏิบัติในการดำเนินการตามวรรคสอง
มาตรา ๓๐ ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง บัตรประจำตัวของพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา

บทความที่ 3 แบบสอบถาม

Click เลย

บทความที่ 2 Link สื่อการสอน Photoshop


บทความที่ 1 ข้อมูลเจ้าของบล็อก

About Me......

        เนื่องจากทางกลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยีได้จัดให้มีการเรียนในวิชาเทคโนโลยี 5 คือให้นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 สร้าง Blog ขึ้นและให้มีการโพสต์ประวัติส่วนตัวของเจ้าของ Blog ลงด้วยจึงเป็นเหตุให้มีการโพสต์ข้อความต่อไปนี้....
ชื่อ ด.ญ.วรินทร รอดงามพริ้ง  ชื่อเล่น เพื่อน  อายุ 15 ปี 
ปัจจุบันศึกษาที่ โรงเรียนวัดราชโอรส ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/1 
ที่อยู่ปัจจุบัน ไม่บอก 5555555  เกิด วันพุธ ที่สาม มิถุนายน พุทธศักราช 2541
E-Mail p_030641@hotmail.com   G-Mail warintron030641@gmail.com
สีที่ชอบ คราม ฟ้า ฟ้าน้ำทะเล น้ำเงิน กลมท่า  สีที่ไม่ชอบ เหลือง แดง
งานอดิเรก...ชอบฟังเพลง ดูโทรทัศน์ เล่นกับตัวเล็ก ^^ (ที่บ้านเค้ามีตัวเล็กตั้งหลายตัวนะ 5555) วิชาที่ชอบก็ วิทยาศาสตร์(ถึงจะเรียนไม่ค่อยรู้เรื่องอะนะ 5555) ส่วนวิชาที่ไม่ค่อยปลื้มก็ คณิตศาสตร์(คิดอะไรก็ไม่รู้ตัวเลขทั้งนั้นนนนน....ปวดหัว)  ไม่รู้จะเขียนอะไรแล้วอะ ---- อืมมมม...งั้นเอาเป็นเรื่องการ์ตูนดีกว่า  การ์ตูนที่ชอบดูอะหรอ..ก็ The prince of tennis ไง 55555 ตอนแรกก็ไม่ได้ชอบกีฬาเทนนิสเท่าไหร่หรอกนะ แต่ที่ดูเพราะ..อะไรก็ไม่รู้สิ(แต่เท่าที่รู้อะ..แฟนเค้าหล่อ ^^ แฟนเค้าชื่อ Echizen Ryoma เป็นพระเอกด้วยไงประเด็น 555555) ทีนี้พอดูไปดูมาก็เริ่มชอบเทนนิสขึ้นมาหน่อย กีฬาที่เค้าชอบอะ จริงๆเค้าชอบวอลเล่ย์กับว่ายน้ำนะ แต่ก็ไม่ได้เล่นดีอะไรนักหรอก (เฮ้ออออ เหนื่อยมั้ยเนี่ย...เอาจริงๆนะ ตั้ง 20 บรรทัด มันจะมีอะไรให้เขียนกันนักกันหนา แต่ก็บ่นไม่ได้ไง ก็ต้องทนๆเขียนไป 5555) อีกไม่กี่บรรทัดก็จะเขียนจบแล้วสินะ งั้นขอเขียนเรื่องเพื่อนซะหน่อยแล้วกัน เอาเป็นว่ามีเพื่อนที่สนิทกันจริงๆก็ 3 คนนะ มี เค้า,ดา แล้วก็แค๊ป (ไม่ใช่ว่าไม่มีใครคบนะ แต่เค้าสนิทกันแค่นี้ไง 55555) เพื่อนบางคนอย่าคิดว่าเค้าไม่รู่้นะทำมาเป็น "แอ๊บใสซื่อ" แต่จริงๆนี่ร้ายมากกก เอาเป็นว่าเค้าก็ไม่อยากจะว่าใครมากนะ งั้นจบเรื่องแค่นี้เลยแล้วกัน เดี๋ยวเรื่องมันจะไปกันใหญ่ ถ้าใครมีอะไรข้องใจเคลียร์ได้หลังไมนะ 5555
          เจ้าของบล็อกหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อมูลทั้งหมดที่ถูกโพสต์ลงในบล็อกนี้ จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องราวเหล่านั้นเพิ่มเติม ไม่มากก็น้อย และหากผิดพลาดประการใดเจ้าของบล็อกก็อภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

วันพุธที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2555

บทความเรื่องเทคโนโลยีกับการพัฒนา
ในยุคโลกาภิวัฒน์ ข้อมูลข่าวสารไร้พรมแดนที่ทำให้เกิดการพัฒนา หลากหลายทั้งด้านวิชาการ เทคโนโลยี สื่อสารสนเทศ พร้อมกับการเปิดเสรีทางการค้า ซึ่งไทย มีข้อผูกพันกับองค์กรระหว่างประเทศ เช่น WTO, ASEAN, AFTA, EU, APEC หรือ กลุ่ม เศรษฐกิจ อื่น ๆ เช่น สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ หกเหลี่ยมเศรษฐกิจ รวมทั้งความรับผิดชอบด้านศรษฐกิจ การค้า การตลาด การคุ้มครองผู้บริโภค การแทรกแซงตลาด ราคาสินค้า จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ จะต้องปรับตัว ปรับทัศนคติ มีวิสัยทัศน์กว้างไกล วางแผนล่วงหน้า อย่างเป็นระบบพร้อมรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น โดยเลือกใช้สื่อสารสนเทศ IT Internet                                     
ทุกคนคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อการดำเนินชีวิต การประกอบธุรกิจ การเรียนรู้ ตลอดจนการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ยังดำเนินต่อไป อย่างไม่หยุดยั้งนี้เอง จึงเป็นความจำเป็นที่เราจะต้องหันมาให้ความสนใจ สร้างความเข้าใจ และหาทางใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ ให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ และสังคมของเราให้มากที่สุด เพื่อที่เราจะสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ ในเชิงเศรษฐกิจและในขณะเดียวกันก็สามารถดำรงไว้ และยังสามารถให้ชุมชนโลกได้รู้ถึง ซึ่งความมีเอกลักษณ์ และวัฒนธรรมประเพณีของสังคมไทยที่มีมาช้านานได้  
ประโยชน์ของเทคโนโลยีสารสนเทศ ต่อระบบเศรษฐกิจนั้นคงเป็นที่เห็นเด่นชัด ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของกระบวนการผลิต และการประกอบธุรกรรม โดยจะเห็นได้จากการที่ภาคธุรกิจ มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นภาคการเงิน การธนาคาร ภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น ส่วนผลในทางสังคม เป็นสิ่งที่รัฐต้องเข้ามาดูแล เพื่อที่จะให้ผลจากเทคโนโลยีสารสนเทศ เกิดในทิศทางที่จะช่วย "ลดช่องว่าง" ระหว่างชุมชนเมืองและชนบท และ "ขยายโอกาส" ให้แก่กลุ่มผู้ด้อยโอกาส ทั้งนี้รวมถึงโอกาสด้านการศึกษา การสาธารณสุข การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และบริการอื่นๆ ของรัฐ   ในแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่วัฒนธรรม เทคโนโลยีสารสนเทศมีคุณลักษณะหลายประการ ที่เอื้อประโยชน์ต่อการนำมาใช้เป็นสื่อ หรือเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่วัฒนธรรม โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับสื่อในรูปแบบอื่น ที่มีการใช้กันมาแต่ดั้งเดิม โดยคุณลักษณะดังกล่าวได้แก่ ความสามารถในการเผยแพร่ และกระจายข้อมูลไปสู่ผู้รับได้ทั่วโลก (borderless) โดยปราศจากซึ่งขีดจำกัดทางภูมิศาสตร์และเวลาความสามารถในการสร้างระบบปฏิสัมพันธ์ (interactive) หรือการโต้ตอบระหว่างผู้ให้และผู้รับข้อมูล หรืออีกนัยหนึ่งคือ การสื่อสารสองทางและประการที่สำคัญคือความคงทนถาวร สะดวกในการค้นคว้า เหมาะกับข้อมูลทางวัฒนธรรม ที่เสี่ยงต่อการสูญหาย
 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงเล็งเห็นถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีสารสนเทศ ต่อการเผยแพร่วัฒนธรรมของชาติ จึงได้ทรงมีพระราชดำริให้ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ดำเนินโครงการสื่อปฏิสัมพันธ์วัฒนธรรมของชาติขึ้น ในปีแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศไทย พ.ศ. ๒๕๓๘ ด้วยปัจจัยดังกล่าว ทำให้เทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถที่จะเข้ามามีบทบาท ในการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี ก่อนที่จะได้นำเสนอตัวอย่างของโครงการ ที่ได้ใช้ศักยภาพจากเทคโนโลยีสารสนเทศ มาใช้ในการเผยแพร่วัฒนธรมของไทย   จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของอินเทอร์เน็ต ที่เหมาะแก่การเผยแพร่ข้อมูลวัฒนธรรมคือ การที่สามารถเข้าถึงผู้คนกว่า ๖๐ ล้านคนทั่วโลก ซึ่งหากนับค่าใช้จ่ายต่อผู้รับ ๑ คน แล้วถือว่าน้อยกว่าการพิมพ์หนังสือมาก ด้วยเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตได้เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าไปศึกษา และเรียนรู้วัฒนธรรมของชนชาติอื่นทั่วโลก โดยผ่านเพียงหน้าจอคอมพิวเตอร์  สิ่งที่สำคัญคือ ความสามารถในการใช้โอกาสจากศักยภาพของเทคโนโลยี เพื่อให้ผู้อื่นได้รู้จักเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของตน ซึ่งยังมีอยู่ในระดับต่างกัน ชนชาติที่มีความตื่นตัวและเห็นประโยชน์ ก็จะนำข้อมูลของตนมาลงเพื่อเผยแพร่ ทำให้ผู้คนอีกหลายสิบล้านคนทั่วโลก ได้เรียนรู้ถึงความเป็นเอกลักษณ์ และวัฒนธรรมของชนชาตินั้น และในทางตรงกันข้าม ชนชาติที่ยังขาดความตื่นตัวในเรื่องดังกล่าว ก็จะต้องอยู่ในสภาพที่เป็นแต่"ผู้รับ"วัฒนธรรมของชาติอื่นไป                                                                                                                           
 นอกจากในเรื่องของวัฒนธรรมแล้วเทคโนโลยีสารสนเทศยังเข้ามามีบทบาทในเรื่องของการศึกษา คือ โรงเรียนจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบในการจัดการศึกษา โดยจัดให้เป็นรูปแบบการศึกษาเพื่อปวงชนซึ่งหากเราพิจารณาไปที่ องค์ประกอบสำคัญของการศึกษาตลอดชีวิตที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง คือ สื่อซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้โดยตรงของบุคคลในสังคมดังนั้นการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีการสื่อสาร และการพัฒนาสื่อเพื่อการศึกษา รวมถึงการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้จึงเป็นเรื่องสำคัญ จะต้องจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตไม่จำกัดอยู่เฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐานที่จัดบริการให้แก่ประชาชนในระดับท้องถิ่นแต่มีเครือข่ายเชื่อมโยงทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและกัน    แผนงานการพัฒนาระบบเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่ง ที่เน้นไปยังพื้นฐานของประเทศคือชุมชนในชนบทโดยนำ อินเทอร์เน็ต เข้าสู่ทุกพื้นที่ ด้วยการสร้างเว็บไซต์ระบบรวมที่จะเป็นศูนย์กลางเพื่อการแนะนำแหล่งท่องเที่ยว และสินค้า ไทยทุกตำบลทั่วประเทศ ออกสู่สายตาชาวโลก และนำไปสู่การขายสินค้าทางอินเทอร์เน็ต ThaiTambon.com เป็นเว็บไซต์บริการข้อมูลที่น่าสนใจของทุกตำบลในเมืองไทย เพื่อพัฒนาให้ทุกตำบลเจริญและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ซึ่งจะมีทั้งข้อมูลทั่วไป ข้อมูลการคมนาคม ระบบสาธารณูปโภค ข้อมูลเศรษฐกิจ ข้อมูลทางการเมืองการบริหาร ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ สถานที่ท่องเที่ยว โรงแรมที่พักและร้านอาหาร จะเห็นได้ว่า การค้าขาย เกิดขึ้นได้จากการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อกลางในการติดต่อ สินค้าที่นำเสนอขาย เป็นได้ทั้งแบบที่เรียกว่า ออนไลน์แคตตาลอก (Online Catalog) คือแทนที่จะต้องไปพิมพ์เป็นเล่มโตๆ (วิธีที่อาจจะโบราณไปแล้ว) ซึ่งปรับปรุง แก้ไขได้ยากและสิ้นเปลืองมาก แต่หันมาใช้อินเทอร์เน็ตแทน เพราะแพร่ไปได้ทั่วโลก ดูได้ตลอดเวลา                                                          
การดำเนินการดังกล่าวเพื่อสร้างระบบข้อมูลตำบลให้เข้าสู่อินเตอร์เน็ต โดยข้อมูลด้านต่างๆ ของตำบลจะถูกเก็บเข้าระบบฐานข้อมูล และสร้างเป็นเว็บไซต์ที่เป็นศูนย์กลางในการติดต่อสื่อสาร แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไข และนำเสนอการทำงาน และผลิตภัณฑ์ของชุมชนกลุ่มชน ตลอดไปจนถึงระดับSMEs เป็นการช่วยเหลือให้กับประชาชน                                                       
เครือข่ายการเรียนรู้และประสานงานวิจัยการท่องเที่ยวโดยชุมชน ฝ่ายที่เกี่ยวข้องดูแลงานวิจัยด้านท่องเที่ยวของ สกว. สำนักงานภาค ได้จัดทำเว็บไซต์  http://www.communitytourism.net ขึ้นเพื่อนำเสนอข้อมูล  ความรู้ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวโดยชุมชน และข้อมูลของแหล่งท่องเที่ยวตามชุมชนต่าง ๆ  ในเครือข่าย เว็บดังกล่าวจะนำเสนอข้อมูล ความเคลื่อนไหวในแวดวงวิจัยด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นเสมือนสื่อกลาง หรือสะพานเชื่อมอันจะทำให้เกิดการสื่อสารระหว่างชุมชนที่จัดการท่องเที่ยว และนักท่องเที่ยวได้ง่ายขึ้น  และยังรวมไปถึงนำเสนอกิจกรรมที่น่าสนใจในแต่ละเดือน  หรือแม้แต่เกร็ดเล็ก ๆ น้อยอย่างการเตรียมความพร้อมก่อนท่องเที่ยวเพื่อที่ว่าเมื่อถึงเวลาเดินทาง นักท่องเที่ยวจะมีความสุข และสนุกกับการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น ณ เวลานี้ สถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นพื้นที่ในชุมชนท้องถิ่นกำลังได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมากขณะเดียวกันภาครัฐเองก็เริ่มหันมาสนใจวิถีการท่องเที่ยวแบบนี้  มีการส่งเสริมให้ชาวบ้านจัดทำการท่องเที่ยวที่หลากหลายรูปแบบ  อาทิ การท่องเที่ยวเชิงเกษตร การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ฉะนั้นกระแสการท่องเที่ยวแบบนี้ถือเป็นทางเลือกทางการท่องเที่ยวที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับตัวชุมชนและนักท่องเที่ยว                                                                                    
 เทคโนโลยีสารสนเทศ  เป็นเทคโนโลยีเดียวที่มีบทบาทที่สำคัญในทุกวงการ  ดังนั้นจึงมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม  เศรษฐกิจ และการเมืองได้อย่างมาก  ปัจจุบันสามารถชมข่าว  ชมรายการทีวี  ที่ส่งกระจายผ่านดาวเทียมของประเทศต่าง ๆ ได้ทั่วโลก  เราสามารถรับรู้ข่าวสารได้ทันทีเราใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตในการสื่อสารระหว่างกัน และติดต่อกับคนได้ทั่วโลก  จึงเป็นที่แน่ชัดว่าแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม  เศรษฐกิจ  สังคม และการเมืองจึงมีลักษณะเป็นสังคมโลกมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มโลกจึงขึ้นกับเทคโนโลยีสารสนเทศ
คำสำคัญ (keywords): คอมพิวเตอร์
· สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการ

โดย       นาง จิตสถา เตชะทวีกุล
ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่   โรงเรียนจรัสพิชากรอาชีวศึกษา

บทความเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) กับ 
Business Process Reengineering (BPR)
ในโลกปัจจุบันนี้อาจกล่าวได้ว่าการแข่งขันทางด้านคุณภาพและนวัตกรรมของสินค้าและการให้บริการเข้ามามีความสำคัญมากกว่าการแข่งขันทางด้านขนาดองค์กรหรือต้นทุนสินค้า ในขณะที่ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ Information Technology (IT) เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจอย่างไรก็ตามองค์กรส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์จากระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหรือระบบคอมพิวเตอร์เพียงเพื่อเพิ่มความรวดเร็วของกระบวนงานดั้งเดิมเท่านั้น ซึ่งนั่นทำให้ปัญหาด้านประสิทธิภาพการทำงานยังถูกแก้ไม่ตรงจุด                                                                                                          เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางด้านประสิทธิภาพการทำงานไม่เพียงแต่การนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เท่านั้น องค์กรต้องมีการ reengineering กระบวนงานที่เก่าและล้าสมัยด้วย                                ความคิดเกี่ยวกับ Business Process Reengineering (BPR) จึงเกิดขึ้น โดยมีหลักสำคัญคือการวิเคราะห์และ redesign กระบวนงานและกฏระเบียบเก่า ๆ ในขณะเดียวกันต้องเสริมสร้างกระบวนการนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยการคำนึงถึงกระบวนงานในภาพรวมขององค์กรเป็นหลัก แทนที่จะเป็นการมองไปที่กระบวนของของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง โดยมีหลักสำคัญดังนี้1. เน้นที่ผลลัพธ์ การทำReengineeringให้ความสนใจที่เป้าหมาย (objective- or outcome-oriented) มากกว่าตัวงาน (tasks) ดังนั้นจึงสนับสนุนให้มีทีมงานเพียงหนึ่งทีมทำงานทุกขั้นตอนของกระบวนงานหนึ่ง ๆ เพื่อลด time-overhead ที่บุคคลต้องติดต่อหรือถ่ายทอดงานกันและเพิ่มประสิทธิภาพของงานเนื่องจากมีผู้ที่รู้กระบวนงานและสถานะทั้งหมดในภาพรวม                                                                                        2. หน่วยงานเบ็ดเสร็จ คือแนวความคิดที่ให้ผู้ที่ต้องการผลของกระบวนงานเป็นผู้ดำเนินกระบวนงานนั้นเอง นั่นคือ หน่วยงานสามารถมีบทบาทและหน้าที่ได้มากกว่าหนึ่งบทบาท                                  3. รวมข้อมูล คือการผนวกรวมการผลิตและการประมวลผลข้อมูลให้อยู่ในบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานเดียวกัน                                                                                                                                    4. กระจายทรัพยากร ทรัพยากรขององค์กรควรมีการกระจายเพื่อเพิ่มความคล่องตัวและความสะดวกในการใช้งานแต่ต้องสามารถบริหารจัดการได้จากจุดเดียวซึ่งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้ถูกนำมาใช้เพื่อช่วยองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรที่กระจายเหล่านั้น เช่นข้อมูลสารสนเทศ เป็นต้น                                                                                                                                                          5. ทำงานอย่างคู่ขนาน คือแนวความคิดให้องค์กรทำการเชื่อมโยงกิจกรรมที่ทำอย่างคู่ขนานกันในขณะที่มันกำลังดำเนินการอยู่แทนที่จะทำเป็นลำดับ                                                                                                6. ลดลำดับการสั่งการ คือการทำระดับการบริหารให้แบนเรียบขึ้นและให้อำนาจการตัดสินใจในจุดที่เกิดกระบวนการทำงานขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถตัดสินใจในงานที่เขาทำได้ด้วยตนเอง7.  ดึงข้อมูลจากแหล่งต้นทาง เพื่อเป็นการลดความซ้ำซ้อนของข้อมูล ข้อมูลจึงควรถูกรวบรวมแค่ครั้งเดียวและจากแหล่งกำเนิดข้อมูลเอง แล้วค่อย share ผ่านทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ                              BPR ไม่ใช่งานที่ต่างคนต่างทำ แต่ต้องทำข้ามกระบวนงานซึ่งส่งผลกระทบต่อหลายหน่วยงานในองค์กร ดังนั้นการได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารจึงเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งสู่ความสำเร็จ ทั้งนี้นอกจากจะทำให้การควบคุมและตัดสินใจครอบคลุมกระบวนการทั้งหมดแล้ว ยังทำให้มองเห็นภาพรวมขององค์กรด้วย   จะเห็นได้ว่าระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและBPRมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้จึงควรพิจารณาในด้านที่ช่วยสนับสนุนการ redesign กระบวนงานทางธุรกิจให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ยกตัวอย่างเช่นการลดความซ้ำซ้อนของข้อมูลโดยการเก็บในระบบฐานข้อมูลซึ่งให้แผนก-ส่วนต่างๆในองค์กรเข้าถึงได้จากที่เดียวและในขณะเดียวกันการมองกระบวนการทางธุรกิจก็ควรพิจารณาในด้านความสามารถที่ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศจะสามารถให้ได้ ด้วยเช่นกัน

โดย       กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

วันอังคารที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2555


บทความเรื่องธรรมชาติกับมนุษย์

            ภัยธรรมชาติเล่นงานคนไทยเราหนนี้สาหัสนัก หนักหนาสาหัสมากกว่าที่ใครๆ เคยได้รับรู้มาชั่วชีวิต ผู้คนจำนวนมากที่จู่ๆ พลันสิ้นเนื้อประดาตัว หลายคนไม่เพียงสูญเสียทรัพย์สินสิ่งของที่มี ยังสูญเสียสิ่งมีค่ายิ่งกว่าอื่นใด คือ ลูกหลาน พ่อแม่ ญาติพี่น้อง คนรัก เพื่อน ไปกับความกราดเกรี้ยวของธรรมชาติ ที่ไม่บอกให้รู้เนื้อรู้ตัว  ผู้รู้หลายคนบอกว่า นอกจากความสูญเสีย เศร้าโศก อาดูร ที่ไม่สามารถทดแทนกันได้แล้ว ดูเหมือนภัยธรรมชาติครั้งนี้ จะสอนบทเรียนล้ำค่า ให้กับมนุษย์เราอีกครั้ง สอนสิ่งที่ผู้เฒ่าผู้แก่ สอนสืบต่อกันมาเนิ่นนานนักหนาแล้วว่า ถึงอย่างไร มนุษย์เราก็ไม่อาจเอาชนะธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ได้  ไม่ว่าเราจะแกร่งกล้าสามารถ มีวิทยาการล้ำหน้า มีเทคโนโลยีสูงส่งเพียงใดก็ตาม หากยังดำเนินวิถีแห่งชีวิต สวนทางกับธรรมชาติ ขัดแย้งและหักล้างกันอยู่ร่ำไป ก็ยากที่จะอยู่ร่วม
            ภายใต้วิถีทางเช่นนั้น หากมนุษย์ไม่ทำลายธรรมชาติ ธรรมชาติก็จะทำลายมนุษย์ ด้วยวิสัยแห่งความขัดแย้งโดยแท้                                                                                                                                      มนุษย์มากหน้าหลายตา หลากหลายเผ่าพันธุ์ พยายามเสาะแสวงหาความรู้ ความสำเร็จ ในการเอาชนะธรรมชาติให้จงได้ สืบเนื่องมายาวนานชั่วอายุขัยของคนเรา องค์ความรู้เหล่านั้น ถูกสืบทอด พัฒนากันมารุ่นแล้วรุ่นเล่า แต่เมื่อถึงวาระสุดท้าย เราก็ได้บทเรียนสรุปชัดเจนอีกครั้ง เหมือนหลายครั้งที่ผ่านมาว่า  "คนเรายังไม่อาจเอาชนะธรรมชาติได้อย่างแท้จริงและหมดจด"  บ่อยครั้งที่มนุษย์ประกาศอหังการว่า เอาชนะธรรมชาติได้ แต่ชัยชนะดังกล่าว ก็กลายเป็นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ดูเหมือนธรรมชาติจะมีกลเม็ดเด็ดพราย มีความยิ่งใหญ่อยู่ในตัว จนเกินกว่าที่เราจะเอาชนะมันได้อย่างแท้จริง ทุกครั้งไป  น่าแปลกที่วิทยาการมนุษย์ ก้าวล้ำไปจนถึงขนาดเตรียมการออกไปสำรวจดาวเคราะห์อื่น ในห้วงอวกาศไกลโพ้นกันแล้ว แต่วิทยาการเท่าที่มนุษย์มีอยู่ ก็ยังไม่อาจปกป้องชีวิตมนุษย์ เป็นเรือนแสนด้วยกันได้ เราส่งยานสำรวจไปลงดาวอังคารได้ แต่จนแล้วจนรอด เรายังไม่อาจคิดค้นหาวิธีคาดคะเน การเกิดแผ่นดินไหวล่วงหน้าอย่างแม่นยำได้ ตรงกันข้าม ธรรมชาติใช้สิ่งที่เราคุ้นเคย พบเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ให้กลายเป็นเครื่องมือในการทำลายล้างที่สยดสยองและน่าพรั่นพรึงยิ่งนัก ได้ในชั่วพริบตา   หรือเป็นเพราะความก้าวหน้าประดามี ทำให้มนุษย์ดำรงตนอยู่ในความประมาท ปฏิเสธการมีอยู่ของธรรมชาติ ใช้ชีวิตโดยปราศจากการเรียนรู้ และทำความเข้าใจธรรมชาติของโลก อย่างถ่องแท้?           ดำรงชีวิตอย่างมืดบอด ไม่ยอมทำความเข้าใจ ไม่รู้จัก ไม่รักธรรมชาติ  หลงไหล ได้ปลื้ม อยู่กับเครื่องยนต์กลไกและวัตถุประดามี ที่อยู่รอบตัว แล้วลืมเลือนที่จะทำความรู้จักมักคุ้น และตระหนักถึงตัวตนที่แท้จริงของธรรมชาติไป
            ลืมเลือนไปว่าสรรพสิ่ง ย่อมมีสองด้านเสมอ มีทั้งคุณอนันต์และโทษมหันต์อยู่ในตัว บางครั้งโอบอ้อมอารี อบอุ่นและสวยสดงดงาม แต่ยามพิโรธ ก็ร้ายกาจยิ่งกว่าทุกสิ่งบรรดามี ที่มนุษย์เคยคิดค้นขึ้นมาฆ่าฟันกัน                                                                                                                                                            ยามธรรมชาติเกรี้ยวกราด มนุษย์อาจตกเป็นเหยื่อบัดพลีได้เสมอ     ปราชญ์บางคนสอนว่า อย่ายังชีวิตอยู่อย่างขัดแย้ง แต่ต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างสอดคล้อง เรียนรู้ และเข้าใจธรรมชาติ   อยู่ทะเลต้องรู้จักและเข้าใจทะเล   อยู่ป่าเขา ย่อมต้องเรียนรู้ทั้งคุณและโทษของลำเนาไพร เพราะเอาเข้าจริงแล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับธรรมชาติอันยิ่งใหญ่    มนุษย์เรากระจ้อยร่อยอะไรเช่นนั้น !

โดย       ปิยมิตร ปัญญา    piyamitara@yahoo.com